ยอดเยี่ยม 23 นักวิจัย สร้างสรรค์ผลงานสร้างชื่อสถาบัน มทร.ศรีวิชัย ปลื้ม มอบ 26 รางวัลยกย่อง สร้างขวัญกำลังใจพัฒนางานสู่สังคม

วันที่ 26 เมษายน 2566 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและส่งเสริมงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือสังคม กิจกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อตอบโจทย์หมุดหมายของประเทศ และมอบรางวัลเพชรศรีวิชัย ให้กับนักวิจัย 23 ท่าน ด้วยผลงาน 26 รางวัล เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับนักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักวิจัยได้พัฒนาต่อไป ภายใต้การดำเนินงานของ ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วย ผศ.ประภาศรี ศรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะทำงาน โดยมี คณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุนของมหาวิทยาลัยฯ รวมถึงบุคคลภายนอก จำนวนรวมกว่า 200 คน เข้าร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุมศรีวิศว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

.

ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า สำหรับรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัยทั้ง 23 ท่าน 26 รางวัล ประกอบไปด้วยผลงานดังนี้ ด้านการได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัย ด้านการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย นักวิจัยที่มีค่า H-index สูงสุด นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น และนักประดิษฐ์คิดค้น เป็นการสำรวจข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560- 2565 เป็นผลงานที่แล้วเสร็จและถูกนำไปถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์ต่อสังคมหรือเชิงพาณิชย์ สามารถแสดงให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ต่อสาธารณชน ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มุ่งสร้างงานวิจัยที่มีการผสมผสานองค์ความรู้ในศาสตร์หลากหลายแขนงเพื่อสรรสร้างนวัตกรรม อนุรักษ์และสืบทอดมรดกวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตามหมุดหมายการพัฒนาประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรที่มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็ง ภายใต้ BCG Model (Bio – Circular- Green Economy) ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2566-2570 โดยปัจจุบันการดำเนินการขับเคลื่อนด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย ได้ปรับตัวให้ตามกระแสและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของระบบบริหารงานวิจัยระดับประเทศเรื่อยมา จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน นอกจากนี้การดำเนินงานวิจัยไม่เพียงแต่ทำให้แล้วเสร็จเพียงการปิดเล่ม แต่มหาวิทยาลัยยังตระหนักถึงการนำผลงานไปเผยแพร่สู่สาธารณชน มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมหาวิทยาลัยฯ ส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรในด้านการเข้าใจด้านแหล่งทุนวิจัยต่าง ๆ การเข้าใจเทรนด์การของบประมาณการวิจัยในรูปแบบใหม่ การพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อการพิชิตทุนจากแหล่งทุนภายนอก การส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิจัยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สู่ระดับสากลเพิ่มขึ้น และตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สามารถเป็นนักจัดการบริหารแผนงานหรือโครงการวิจัยอย่างมีคุณภาพสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคม และประเทศชาติได้ในอนาคต โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างโจทย์การวิจัยให้ตอบโจทย์ต่อการใช้ประโยชน์ของกลุ่มเป้าหมาย ชุมชน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงตอบโจทย์ด้านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ

.

สำหรับบรรยากาศภายในการจัดโครงการมีการนำเสนอผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก  เช่น แหล่งทุนหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นต้น รวมถึงการแสดงบูธผลงานเด่นจากโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน” (U2T)

Like: