เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ประกอบด้วย มทร.กรุงเทพ มทร.ตะวันออก มทร.ธัญบุรี มทร.พระนคร มทร.รัตนโกสินทร์ มทร.ล้านนา มทร.ศรีวิชัย มทร.สุวรรณภูมิ และ มทร.อีสาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) การขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) กับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ณ ห้องกมลมาศ ชั้น 6 โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ซึ่งบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) การขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) ดังกล่าวสอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566–2570 ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และมีบทบาทหน้าที่ในการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัย สู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (Learning and Innovation Platform; LIP) ให้เกิดการเรียนรู้และรับ-ปรับ-ใช้นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อมุ่งสร้างโอกาสใหม่ในพื้นที่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและจัดการแก้ปัญหาคนจน และลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ประกอบด้วย
1.ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
2.รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
3.รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
4.ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
5.รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
6.รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาราชการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
7.รองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
8.รองศาสตราจารย์ ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
9.รองศาสตราจารย์ ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
10.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ผู้แทน ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
โดยบันทึกข้อตกลงความเข้าใจจะมีระยะเวลา 3 ปี และเป้าหมายสำคัญเพื่อการร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) ในการประยุกต์ใช้และขยายผลนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่ได้จากผลงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ไปใช้ในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่คนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ และเห็นพ้องต้องกันที่จะสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้
1.ส่งเสริม สนับสนุนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยอยู่บนเงื่อนไขการใช้หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการผลิตและบริการ ทั้งในเชิงสาธารณประโยชน์และเชิงพาณิชย์
2.สนับสนุนระบบและกลไกที่ส่งเสริมและการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก กับหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน เพื่อพัฒนากลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ และผู้ประกอบการในพื้นที่ ให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จนมีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้น ผ่านการประเมินระดับนวัตกรชุมชน
3.สนับสนุนการขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในพื้นที่เป้าหมาย ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชนให้เพิ่มขึ้น
4.สนับสนุนการทำงานโครงการวิจัยภายใต้แผนงาน รายประเด็น RU กรอบการวิจัย “การขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน”
5.สนับสนุนแผนงานวิจัย การพัฒนาและสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วมเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ (Social Integrated Enterprise; SIE)
6.พัฒนาและสนับสนุนการใช้งานแพลตฟอร์มบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อสังคม (RinMP) ให้ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย สำหรับการใช้ประโยชน์ระบบ Appropriate Technology Matching ระหว่าง Demand-Side และ Supply-Side รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมอื่นๆ ได้
7.สนับสนุนกิจกรรม Appropriate Technology Matching สำหรับเป็นพื้นที่จับคู่นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม กับโจทย์ปัญหาหรือความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปขยายผลและการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพ
8.สนับสนุนการออกแบบและพัฒนากลไกถ่ายทอดและบริการเทคโนโลยีสู่ชุมชน และเสริมสร้าง Ecosystem ที่พร้อมให้บริการกลุ่มเป้าหมาย
9.สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้เกิดการลงทุนสำหรับนำผลงานวิจัยที่เป็น Appropriate Technology ไปสู่การขยายผลทางธุรกิจและเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์