มทร.ศรีวิชัย ยกทัพ โซนภาคกลาง นำผลงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี พร้อมด้วย คณะทำงาน สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เข้าร่วมงาน Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” โซนพื้นที่ภาคกลาง ระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎ ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นประธานในการเปิดงาน และ ผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน ณ ห้องประชุม CONVENTION CENTER โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

.

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในนามทัพหน้าได้นำเสนอ TED Talk เป้าหมายและผลลัพธ์การขับเคลื่อน Appropriate Technology ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎ ถือเป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานกับโครงการแก้จนหรือไปฟังแก้จนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ บพท. จากทุนการดำเนินงานของหน่วย บพท. ในปีงบประมาณ 2563-2566 ภายใต้แผนงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มี เป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยกลไกการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลแล้วสร้างตัวแบบการ เรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation platform) พบว่า ช่วยพัฒนาชุมชนนวัตกรรม 954 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด สร้างมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 โดยทางเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ได้ร่วมทำงานกับหน่วย บพท. มาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างผลผลิตและการใช้นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบกระจายในพื้นที่ ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในปี 2566 บพท. ได้ริเริ่มการเชื่อมโยง Demand-Supply Matching โดยพัฒนากรอบการวิจัย “เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างโอกาสทางสังคม (Appropriate Technology for Social Mobility)” ผ่านทางเครือข่าย มทร. ด้วยแนวคิดเชื่อมโยงและขยายผลนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสม นำไปใช้ในการช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้เข้าถึงโอกาสในการ ยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ให้หลุดพ้นจากความยากจน ภายใต้โมเดล แก้จน 19 โมเดล คลอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา ในปีงบประมาณ 2567 หน่วย บพท. พัฒนาโปรแกรมการขับเคลื่อนนวัตกรรม พร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate technology) บนความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง และเครือข่าย มหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง เพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่ เหมาะสมจากงานวิจัยให้กับกลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพผู้ประกอบการ ในพื้นที่ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ Learning and Innovation Platform (LIP) ให้กับนวัตกรชุมชน ในการรับ-ปรับ-ใช้นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อไป

.

จะเห็นได้ว่า กิจกรรม Appropriate Technology Matching Day เป็นการเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม/นวัตกรรมพร้อมใช้ (Appropriate Technology) จากผลงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ กับโจทย์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ (Demand-Supply Matching) และสร้างโอกาสในการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่ได้จริง มีการจัดกิจกรรม 4 โซนทั่วประเทศไทย คือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งผลดำเนินการที่ผ่านใน 3 ภูมิภาค สร้างความตื่นตัวให้กับการประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,724 คน นักวิจัยนำนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เข้าร่วม จำนวน 350 ผลงาน กลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจ และผู้ประกอบการ เข้าร่วมจำนวน 597 ราย เกิดการจับคู่ระหว่างโจทย์ปัญหาและความต้องการ กับเทคโนโลยีที่เหมาะสม จำนวน 1,011 คู่   โดยในพื้นที่โซนภาคกลางวันนี้ มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 650 คน มีจำนวนนวัตกรรมที่เข้าร่วมงาน จำนวน 102 นวัตกรรม จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 63 ผลงาน และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 39 ผลงาน มีชุมชนผู้เข้าร่วมงานหลักเป็นกลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่  เข้าร่วมจำนวน 320 คน โดยคาดว่าจะเกิดการจับคู่ระหว่างกลุ่มเป้าหมายและเจ้าของนวัตกรรม ประมาณ 200 คู่