วันที่ 7-8 พฤษภาคม 2562 สถาบันวิจัยและพัฒนา จัดประชุมชี้แจงประกาศรับข้อเสนองานวิจัยงบเงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ 2563 และการใช้งานระบบ DRMS ให้แก่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแต่ละพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการข้อเสนองานวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ตรัง และนครศรีธรรมราช

Like: 

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การเตรียมความพร้อมของวารสารเพื่อเข้าสู่การประเมินคุณภาพวารสาร (TCI) และเตรียมวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล ACI ภายใต้โครงการจัดทำวารสารเพื่อการวิจัย “วารสารเทคโนโลยีศรีวิชัย” ระหว่างวันที่ 29-30 เมษายน 2562 ณ โรงแรมบลูโซเทล ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมข้อมูลของวารสารสำหรับการประเมินคุณภาพวารสารรอบที่ 4 ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มาเป็นประธานในพิธีเปิด และ ดร.นงเยาว์ ศรีพรมสุข ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย มาบรรยายให้คำแนะนำรายละเอียดตามเกณฑ์การประเมินของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้เชิญเครือข่ายผู้จัดทำวารสารของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ทั้ง 5 แห่ง เข้าร่วมด้วย เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพและการดำเนินงานของวารสาร โดยมีผู้เข้าร่วมจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย รวมทั้งสิ้น 7 วารสาร

Like: 

สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ศรีวิชัย จัดโครงการ “การอบรมการใช้เครื่องมือทางสถิติเพื่อการวิจัย” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน 2562 ณ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผศ.ปัญจา ชูช่วย วิทยากรจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และว่าที่ร้อยตรีหญิงน้ำฝน พลอยนิลเพชร มาให้ความรู้ความเข้าใจการใช้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้แก่นักวิจัยของมหาลัยฯ เพื่อให้สามารถนำเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติไปใช้ในการวิจัยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก

Like: 

วันที่ 25 เมษายน 2562 ผู้บริหารสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ร่วมประชุมกำหนดการติดตามการดำเนินงานของโครงการ "ประสานงานชุดโครงการวิจัยและพัฒนาผู้ประกอบการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล" ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยมีข้อหารือเพื่อกำหนดแนวทางการติดตามงานวิจัย และการหนุนเสริมการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงวางแผนการทำงานในระยะต่อไปของโครงการฯ ในกลุ่มเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง

Like: 

วันที่ 22-23 เมษายน 2562 สถาบันวิจัยและพัฒนา นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวเปิดโครงการ “การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัย” ณ วังวาดี รีสอร์ท ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ในช่วงเช้าของวันนี้ได้มีการบรรยายเรื่อง "ทิศทางการปฏิรูประบบวิจัยและนัยยะความสำคัญต่องานวิจัยเชิงพื้นที่" โดย ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ต่อด้วยการบรรยาย "แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยระยะ 20 ปี ตามแนวคิดด้านการสร้างผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมบนอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ในระยะปานกลาง 5 ปี แรก" โดย คุณวันเพ็ญ จิตตพงศ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมกัน Workshop กิจกรรมปฏิบัติการกลุ่ม การวิเคราะห์โจทย์วิจัยบนอัตลักษณ์และบริบทความต้องการเชิงพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฯ ในภาคบ่ายมีการแบ่งกลุ่มการปฏิบัติการตามกิจกรรม โดย เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนา Network Value chain บนฐานงานวิจัยเดิมและการพัฒนา Research framework บนงานฐานวิจัย เพื่อเป็นการเรียนรู้เครื่องมือในการพัฒนางานวิจัย อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทิศทางการปฏิรูประบบการวิจัยในอนาคต หลังจากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับการทำงานวิจัย โดยได้ยก Case Study จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Case Study การออกแบบงานวิจัยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงกับสังคม โดย ดร.ณัฎฐ์วรดี คณิตินสุทธิทอง อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีการจัดการ มทร.ศรีวิชัย และ Case Study เกี่ยวกับการจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่สู่การตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล โพชกำเหนิด อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย โดยนักวิจัยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ให้บรรลุตามเป้าประสงค์ของการดำเนินการวิจัยอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

          สำหรับวันที่สองของโครงการเป็นกิจกรรมนำเสนอ Research Framwork ของกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัย ทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม กลุ่มนวัตกรรมจากใบจาก กลุ่มเครื่องแกง กลุ่มเรื่องถม โดยมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัยกับวิทยากร อีกทั้งยังเป็นแนวทางการวิจัยให้กับผู้เข้าร่วมท่านอื่นด้วย และในช่วงบ่ายมีการบรรยาย หัวข้อเรื่องกรณีศึกษาโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช โดย ผศ.ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการบรรยายกระบวนการทำงานงานวิจัยเชิงพื้นที่จากประสบการณ์จริง ที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ ที่มีความแตกต่างในด้านพื้นที่และชุมชน ต่อมาเป็นการบรรยายแนวทางการเขียนรายงานวิจัยโดย ดร.สุดคนึง          ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา โดยบรรยายถึงรายละเอียดแบบฟอร์มของการเขียนรายงานความก้าวหน้าและรายงานฉบับสมบูรณ์ ภายใต้โครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาเครื่องมือในการทำวิจัยของ หน่วยจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ และปิดท้ายด้วยกิจกรรมการเขียนความต้องการการรับการหนุนเสริมด้านงานวิจัย จากนักวิจัยที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก

Like: 

สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ศรีวิชัย เข้าร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2019) ณ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562 โดยนำผลงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) "การจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียนจังหวัดตรัง" เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ได้แก่ โครงการวิจัยตู้อบใบจากโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดย ผศ.นพดล โพชกำเหนิด  โครงการวิจัยการเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนจากการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ของชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียนจังหวัดตรัง โดย ผศ.ระริน เครือวรพันธุ์ โครงการวิจัยนวัตกรรมสีเขียวสีรถสะดุดเหลือใช้จากการแปรรูปจากปัจจุบันชุมชนสีเขียวสู่ความยั่งยืนของลุ่มน้ำปะเหลียน โดย ดร.ทัชชญา สังขะกูล นอกจากนี้ ยังมีโครงการวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหวานต้นจากเชิงพาณิชย์เพื่อการอนุรักษ์ป่าจากอย่างยั่งยืนกรณีศึกษาลุ่มน้ำปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ผศ.ดวงเดือน สงฤทธิ์ ซึ่งในแต่ละวันจะมีการจัด workshop ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมสนุก เช่น การผลิตถ่านแฟนซีจากใบจาก การสานติหมาจากใบจาก การทำของที่ระลึกจากใบจาก ซึ่งได้รับความสนใจแก่ผู้ร่วมงานจำนวนมาก

Like: 

Pages