มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ภายใต้โครงการประชุมกองบรรณาธิการ วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำโดย ดร.สุดคนึง ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทั่วไป พร้อมคณะทำงาน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคุณภาพวารสาร เข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus” ณ โรงแรมปาหนัน กระบี่ รีสอร์ท ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2565

          ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในนามของบรรณาธิการวารสารวิจัย มทร.ศรี ได้เป็นประธานในการกล่าวเปิดโครงการและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพวารสารของมหาวิทยาลัย ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฐานข้อมูลระดับนานาชาติ และเชื่อมต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กับมหาวิทยาลัยกลุ่มภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 13 วารสาร ประกอบด้วย/วารสารวิชชา (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช)/วารสารนาคบุตรปริทรรศน์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช)/วารสารวิชาการสังคมมนุษย์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช) ASEAN Journal of Scientific and Technological Reports (มหาวิทยาลัยทักษิณ)/วารสารเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ (มหาวิทยาลัยทักษิณ) Asian Journal of Arts and Culture (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) Trends in Sciences (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) Asia Social Issues (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) Songklanakarin Journal of Science and Technology (SJST) (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) (มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)/วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา)/วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา) และวารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์)

          ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง เกณฑ์การประเมินและแนวทางการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคุณภาพวารสารสู่ฐานข้อมูล Scopus เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพวารสารของมหาวิทยาลัย เตรียมความพร้อมเข้าสู่ฐานข้อมูลระดับนานาชาติ และเชื่อมต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กับมหาวิทยาลัยกลุ่มภาคใต้ในการดำเนินการด้านวารสาร หรือการพัฒนางานด้านการวิจัยต่อไป

Like: 

          วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน(อพ.สธ.-มทร.ศรีวิชัย)จัดประชุมติดตามผลและรายงานความก้าวหน้า ระยะ 6 เดือน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารสำนักงานวิทยาเขตตรัง  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์โกสินทร์ พัฒนมณี รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จาก สถาบันวิจัยและพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี  สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม ซึ่งวิทยาเขตตรัง มีโครงการที่รายงานความก้าวหน้าทั้งหมด 4 โครงการ

  • โครงการการใช้ประโยชน์สารให้สีจากเปลือกเสม็ดแดงเพื่อเพิ่มความเข้มสีไข่แดงของสัตว์ปีก อ.กัตตินาฏ สกุลสวัสดิพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง
  • โครงการเห็ดเสม็ดในป่าเสม็ดขาวและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ผศ.ดร.อมรรัตน์ อังอัจฉะริยะ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง
  • โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์เสม็ดขาวเสม็ดแดง ผศ.ศวรรณรัศม์  อภัยพงค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
  • โครงการผลิตภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มจากเปลือกต้นเสม็ดขาวเพื่อลดการใช้กระดาษและพลาสติก นายสมภพ  ยี่สุ่น สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Like: 

 วันที่ 29 เมษายน 2565 หน่วยจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มุ่งเน้นการทำงานวิจัยแบบบูรณาการศาสตร์ ระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ทุกพื้นเพื่อผสานองค์ความรู้ทางด้านวิชาการร่วมทำงานพัฒนา องค์ความรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสม นวัตกรรมพร้อมใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนสังคมแก้ปัญหาความต้องการของพื้นที่ หวังการกระจายรายได้ในชุมชน ด้วยโครงการการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายใต้บริบทชุมชน “เขา ป่า นา เล” ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี อาจารย์ธานินทร์ ผะเอม ประธานแผนงานชุมชนนวัตกรรม พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่ายภาคีหน่วยงานของภาครัฐและเองชนรวมไปถึงนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานในระยะ 9 เดือน ต่อผู้ทรงคุณวุฒิและกลุ่มหน่วยงานที่เข้าร่วมโดยได้มีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงประยุคการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในนาม ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ และแผนการดำเนินงานตามพัธกิจของมหาวิทยาลัยภายใต้กรอบ Flagship ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโครงการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ มหาวิทยาลัยฯ ได้รับสนับสนุนจากหน่วยหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนายกระดับพื้นที่(บพท.) ภายใต้แพลตฟอร์มการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างขีด ความสามารถของชุมชนในการเรียนรู้และรับปรับใช้นวัตกรรม สามารถนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงและจัดการ ปัญหาในชุมชน พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยฯจะใช้เป็นเครื่องมือนำองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาพื้นที่เพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชน สู่ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          ภายในงานได้มีการแสดงผลงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 10 โครงการวิจัยย่อย มีการวางระบบและกลไกการบริหารจัดการงานวิจัย แบ่งออกเป็น มิติต่างๆ ประกอบด้วย “มิติชุมชนเขา” นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพขมิ้นด้วงของกลุ่มผู้ปลูกขมิ้นด้วงบ้านวังหอนอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช “มิติชุมชนป่า” นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงของชุมชนตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ,การยกระดับกระบวนการผลิตเมล็ดโกโก้แห้งให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน: กรณีศึกษาตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช “มิติชุมชนนา” นวัตกรรมการจัดการอาหารโคเนื้อในตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัด นครศรีธรรมราช ,การพัฒนาอาหารโปรตีนปลอดภัยจากปลานิลเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนบ้านวัดใหม่ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช “มิติชุมชนเล”นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ของอาหารทะเลต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนชายฝั่งวิถีใหม ,นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาหวานชุมชนบ้านตะเสะ      อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง ,การยกระดับการแปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ด้วยนวัตกรรมตู้อบแห้งอัจฉริยะและตลาดออนไลน์, การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพจากฐานทรัพยากรโคลนธรรมชาติบ่อน้ำพุเค็มร้อนในพื้นที่ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และการบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนจากงานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดตรัง โดยการดำเนิน ในพื้นที่ทำงานวิจัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรม จำนวน 15 ตำบล ประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดตรัง 9 ตำบล ได้แก่ ตำบลตะเสะ ตำบลหาดสำราญ ตำบลบ่อหิน ตำบลน้ำผุด ตำบลนาหมื่นศรี ตำบลโคกสะบ้า ตำบลละมอ ตำบลกะช่อง และตำบลนาข้าวเสีย และพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 6  ตำบล ได้แก่ ตำบลดุสิต ตำบลทุ่งใหญ่ ตำบลสระแก้ว ตำบลควนกรด ตำบลวังอ่าง และตำบลท้องเนียน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การยกมาตรฐานการผลิตและแปรรูป และการบริหารจัดการตลาดเพิ่มโอกาสทางการตลาด ซึ่งพบว่ามีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมพร้อมใช้ จำนวน 23 ผลงาน สามารถสร้างนวัตกรชาวบ้าน จำนวน 84 คน 

ด้าน นางอารีย์  มั่นซิ้ว ชาวบ้านนวัตกรด้านการนวดแผนไทยในกลุ่มงานวิจัยการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพจากฐานทรัพยากรโคลนธรรมชาติบ่อน้ำพุเค็มร้อนในพื้นที่ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา  จังหวัดตรัง กล่าวว่าตนได้มีความรู้และทักษะด้านงานบริการเพิ่มมากขึ้นสร้างความเชื่อมั่นและความประทับให้กับผู้มาใช้บริการนวดสปาได้เป็นอย่างดีรวมถึงการมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากอาชีพเสริมทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

เพื่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระยะ 5 ปี ตามวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาภูมิภาคอย่างมั่นคง” ในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ไปสู่เป้าหมาย เป็น “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม” ต่อไป

Like: 

          สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำโดย ผศ.ประภาศรี ศรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา จัดโครงการ “การทบทวนข้อเสนอโครงการวิจัยให้เข้าเป้ากรอบวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ประจำปีงบประมาณ 2566”ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2565 ภายใต้โครงการการเขียนข้อเสนอการวิจัยให้สอดคล้องกับ OKRs ของแหล่งทุน ณ โรงแรมดุสิต ดีทู ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

          โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นประธานในการกล่าวเปิดโครงการและกล่าวต้อนรับ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ, ศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานวิจัย และ ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี เป็นวิทยากรให้คำแนะนำข้อเสนอแนะในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยแก่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

          ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มีพันธกิจมุ่งเน้นจัดการศึกษา และการวิจัย เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและประเทศชาติ ในปัจจุบันงานวิจัยของมหาวิทยาลัย นั้น ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ มีการส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัย ทั้งด้านงบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนานักวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้นักวิจัยนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัย มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและสื่อต่างๆ การถ่ายทอดความรู้จากการวิจัยสู่ชุมชนจนถึงการนำผลที่เกิดจากการวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ดังนั้น การจัดโครงการ “การทบทวนข้อเสนอโครงการวิจัย ให้เข้าเป้ากรอบวิจัย สวก. ประจำปีงบประมาณ 2566” ภายใต้ โครงการการเขียนข้อเสนอการวิจัยให้สอดคล้องกับ OKRs ของแหล่งทุนในครั้งนี้ เป็นการปรับตัวของมหาวิทยาลัยฯ อีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัยเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยให้สอดคล้องกับทิศทางการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุน สวก. และจากแหล่งทุนภายนอกต่างๆ เพิ่มขึ้น

          ด้าน ผศ.ประภาศรี ศรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในพันธกิจด้านการวิจัย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศและท้องถิ่น และการนำผลงานวิจัยไปใช้ได้จริง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการขอทุนสนับสนุนด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงตามระบบการขอทุนของหน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรม (PMU) เป็นการเพิ่มโอกาสนักวิจัยของ มทร.ศรีวิชัย ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น

          สถาบันวิจัยและพัฒนา เห็นว่าการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการการเขียนข้อเสนอการวิจัยให้สอดคล้องกับ OKRs ของแหล่งทุนจึงมีความจำเป็นเพื่อเตรียมข้อเสนอการวิจัยสำหรับส่งเสนอของบประมาณของนักวิจัย มทร.ศรีวิชัย ภายใต้เงื่อนไขของหน่วย PMU ที่กำหนดแตกต่างกันไปได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และกรอบการวิจัยที่มหาวิทยาลัยฯ ได้กำหนดไว้ อีกทั้งกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอการวิจัยเบื้องต้น ก่อนส่งเสนอของบประมาณสนับสนุนไปยังหน่วย PMU ต่อไป

Like: 

วันที่ 21 เมษายน 2565 ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน(อพ.สธ.-มทร.ศรีวิชัย)จัดประชุมติดตามผลและรายงานความก้าวหน้า ระยะ 6 เดือน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พื้นที่สงขลา ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องประชุมโกศล อาคารมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยมี ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นประธานในการประชุม และคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พื้นที่สงขลา จาก สถาบันวิจัยและพัฒนา คณะศิลปศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยรัตภูมิ ร่วมประชุม ซึ่งพื้นที่สงขลา มีโครงการที่รายงานความก้าวหน้าทั้งหมด 7 โครงการ ดังนี้

โครงการบำรุงรักษาพันธุกรรมพืชกล้วยพื้นเมืองในพื้นที่ปกปัก อ.สุพัตรา  เพ็งเกลี้ยง วิทยาลัยรัตภูมิ

โครงการการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อเพื่ออนุรักษ์พันธุ์กล้วยพื้นเมือง อ.สุพัตรา  เพ็งเกลี้ยง วิทยาลัยรัตภูมิ

โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแป้งกล้วย และอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแป้งกล้วยพื้นเมืองภาคใต้ ดร.วิชชุลฎา  ถาวโรจน์ คณะศิลปศาสตร์

โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใยกล้วยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผศ.พรโพยม  วรเชฐวราวัตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์

โครงการการพัฒนากระบวนการผลิตและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไซเดอร์จากกล้วย อ.นุชจิเรศ  แก้วสกุล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

โครงการห้องนิทรรศการการเดินทางของกล้วยด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR) อ.อภิชญา  ขวัญแก้ว คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี      

โครงการการพัฒนาช่องทางออนไลน์และการทำบรรจุภัณฑ์จากกล้วยสู่เชิงพาณิชย์ ผศ.ธันยาภรณ์ ดำจุติ คณะบริหารธุรกิจ

Like: 

วันที่ 20 เมษายน 2565 ผศ.ประภาศรี ศรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วย รศ.ดร.ชุตินุช สุจริต รองผู้อำนวยการ และ ดร.พิมพิศา พรหมมา นักวิจัย มทร.ศรีวิชัย พื้นที่ขนอม นำเสนอผลงานภายใต้โครงการวิจัยการขับเคลื่อนและยกระดับพริกไทยปะเหลียนสู่ตลาดการแข่งขัน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของภาคใต้บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นสู่ตลาดการแข่งขัน ณ ห้องประชุมสมิหลา ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา

          บรรยากาศภายใต้พิธีลงนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย บันทึกข้อตกลงความเข้าใจ การบริการทางวิชาการแก่ชุมชน กับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ณ ห้องประชุมสมิหลา ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา

          สำหรับการลงนามในครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานได้เกิดความตระหนักในการรับผิดต่อสังคมและความสำคัญในการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ การพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการพัฒนาชุมชน การยกระดับเศรษฐกิจของชุมชน ส่งเสริมการบริการวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่นด้วยฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และทุนทางวัฒนธรรม รวมทั้งเพื่อให้เกิดการบูรณาการทรัพยากร การจัดการหน่วยงานเครือข่าย การบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่างๆ ให้เชี่ยวชาญทันเหตุการณ์สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดองค์ความรู้ใหม่ อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระดับชุมชนและระดับภูมิภาคด้วยหลักวิชาการ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นสมควรทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการบริการทางวิชาการแก่ชุมชนในพื้นที่ให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดกระบี่

          ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า การร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจากความรับผิดชอบต่อสังคมและความสำคัญในการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน การยกระดับเศรษฐกิจของชุมชน ส่งเสริมการบริการวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่น ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทุนทางวัฒนธรรม

.

ด้าน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับกรมการพัฒนาชุมชน เป็นองค์กรลำดับต้นๆ ของประเทศที่ให้ความสำคัญในการให้บริการประชาชน มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ สนับสนุนให้มีการจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน กรมการพัฒนาชุมชน ยังคงหาแนวทางและช่องทางในการให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในวันนี้ มีความโชคดีที่มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการที่ดี เป็นแหล่งบ่มเพาะกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น ในการร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นเพื่อประชาชนในท้องถิ่นอีก เพื่อให้เกิดการบูรณาการทรัพยากรการจัดการหน่วยงานเครือข่าย การบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่าง ๆ ให้เชี่ยวชาญ ทันเหตุการณ์สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันเกิดองค์ความรู้ใหม่ อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระดับชุมชนและระดับภูมิภาคด้วยหลักวิชาการต่อไป

          ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า โดยภาพรวมการดำเนินงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้กับการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชน สร้างความร่วมมือในการหนุนเสริม ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการแข่งขัน การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการชุมชน และการเพิ่มโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่น / OTOP สร้างความร่วมมือในการหนุนเสริมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ การจัดการผลผลิตจากโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้มีคุณภาพ การพัฒนาขีดความสามารถ   ให้ชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในพื้นที่ และการพัฒนาชุมชนสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานการเกษตรรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวแนวใหม่ ส่งเสริมและสนับสนุนร่วมมือในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การฝึกอบรม การประชุมและสัมมนาทางวิชาการ การจัดทำผลงานทางวิชาการ รวมทั้งความร่วมมือในการฝึกภาคปฏิบัติภาคสนามของนักศึกษา และส่งเสริมและสนับสนุน การพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาชุมชน การเทียบหลักสูตรการฝึกอบรมของกรมการพัฒนาชุมชน กับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สะสมในธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) เพื่อขอปริญญาต่อไป

Like: 

Pages