ประกาศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
เรื่อง ทุนสนับสนุนการวิจัย จากเงินงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐
----------------------------
ตามที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยเป็นประจำทุกปีนั้น สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๖๐ เพื่อให้การเสนอขอทุนอุดหนุนการวิจัยจากเงินงบประมาณแผ่นดิน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และทันตามกำหนดระยะเวลาของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงบประมาณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จึงเห็นสมควรประกาศเปิดรับข้อเสนอการวิจัยจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ดังนี้
๑. ลักษณะโครงการที่ให้การสนับสนุน
๑.๑ โครงการวิจัยที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหรือนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ และหรือนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้รายละเอียดให้เป็นไปตามสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนด (ดูรายละเอียด ได้จาก http://rdi.rmutsv.ac.th)
๑.๒ โครงการวิจัยที่มีความสอดคล้องกับผลผลิตการวิจัย ดังต่อไปนี้
๑.๒.๑ ผลผลิตการวิจัยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากโครงการ สิทธิบัตร เกิดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อตอบปัญหา หรือแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน ประเทศชาติ บนพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือสภาพปัญหาของสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและสังคม เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ จะให้ความสำคัญและเน้นการวิจัยในส่วนนี้ เป็นสำคัญ
๑.๒.๒ ผลผลิตการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ และสามารถพัฒนาโครงการเพื่อขอทุนศึกษาต่อยอดได้
๑.๓ โครงการวิจัยที่เสนอ ต้องไม่เป็นโครงการที่เคยพิจารณาไม่สนับสนุน และไม่เป็นโครงการที่เคยได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนอื่น
๑.๔ กรณีแผนงานวิจัยต้องมีโครงการย่อยภายใต้แผนงานวิจัยไม่น้อยกว่า ๒ โครงการตลอดการวิจัย
๒. งบประมาณสนับสนุน
๒.๑ สำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ นักวิจัยที่ยังไม่เคยได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากเงินงบประมาณแผ่นดิน สนับสนุนโครงการละไม่เกิน ๓ แสนบาท ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ จะเปิดโอกาสให้นักวิจัยหน้าใหม่ได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยอาวุโส และเกิดทีมวิจัยที่เข้มแข็งเพื่อพัฒนางานวิจัยไปสู่การทำงานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น
๒.๒ สำหรับนักวิจัยทั่วไป สนับสนุนโครงการวิจัยที่นอกเหนือจาก ข้อ ๒.๑
๓. คุณสมบัติของผู้อำนวยการแผนงานวิจัย และหัวหน้าโครงการวิจัยเดี่ยวหรือย่อย
๓.๑ เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ที่ปฏิบัติหน้าที่สายงานสอน กรณีเป็นอาจารย์อัตราจ้างให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงาน โดยแนบหนังสือรับรองจากหัวหน้าหน่วยงาน
๓.๒ ไม่อยู่ในระหว่างลาศึกษาต่อ หรือลาฝึกอบรมเกินกว่า ๖ เดือน ในปีงบประมาณนั้น
๓.๓ ไม่เคยเป็นผู้ถูกระงับโครงการวิจัย จากเหตุละทิ้งโครงการวิจัยโดยเหตุผลอันไม่สมควร
๓.๔ ไม่เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยหรือหัวหน้าโครงการวิจัยที่ขอรับทุนวิจัยจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ประเภทอุดหนุนทั่วไปเกินกว่า ๒ โครงการในปีงบประมาณเดียวกัน หรือเมื่อรวมกับโครงการวิจัยที่ได้รับงบประมาณในปีที่ผ่านมาและยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมแล้วไม่เกิน ๒ โครงการ
๓.๕ ไม่เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยหรือหัวหน้าโครงการวิจัย/หัวหน้าโครงการย่อยภายใต้แผนงานวิจัย ที่ผิดสัญญารับทุน กล่าวคือ การค้างส่งรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ตามประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง การติดตามและประเมินผลโครงการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนเพื่อการวิจัย พ.ศ. ๒๕๕๓
๓.๖ ไม่เป็นผู้ที่เคยผิดจรรยาบรรณนักวิจัย
๔. การจัดทำรายละเอียดโครงการวิจัยและการส่งข้อเสนอการวิจัย (Download แบบฟอร์มได้จาก http://rdi.rmutsv.ac.th)
๔.๑ คณะ / วิทยาลัย ส่งข้อเสนอการวิจัยตามข้อ ๔.๒ และรายละเอียดดังต่อไปนี้ จำนวน ๑ ชุด ถึงสถาบันวิจัยและพัฒนาภายในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๘
๔.๑.๑ แบบบัญชีรายชื่อข้อเสนอการวิจัยระดับคณะ/วิทยาลัย แบบ บช-3
๔.๑.๒ CD ไฟล์ข้อเสนอการวิจัยในแบบ PDF (.pfd) และตั้งชื่อไฟล์ ตามลำดับในแบบ บช-3 (๑ แผ่น ต่อ ๑ คณะ/วิทยาลัย)
๔.๒ นักวิจัย ส่งรายละเอียดข้อเสนอการวิจัยผ่านหน่วยงานต้นสังกัด ดังต่อไปนี้
๔.๒.๑ โครงการใหม่ จัดทำรายละเอียด ข้อเสนอการวิจัย ตาม แบบ ว-1ด สำหรับโครงการเดี่ยวและโครงการย่อย และ แบบ ว-1ช สำหรับแผนงานวิจัย จำนวน ๒ ชุด (ส่งสถาบันวิจัยและพัฒนา ๑ ชุด/ต้นสังกัด ๑ ชุด)
๔.๒.๒ โครงการต่อเนื่อง รายละเอียดตามข้อ ๔.๒.๑ พร้อมรายงานความก้าวหน้า จำนวน ๑ ชุด ตามแบบ ต-1ช/ด (รวมถึงโครงการวิจัยต่อเนื่องที่ได้รับการสนับสนุนในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๙)
๔.๓ ส่งข้อเสนอการวิจัย ผ่านระบบบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ (National Research Management System: NRMS) เว็บไซต์ www.nrms.go.th ให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๘
๔.๒.๓ เอกสารที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
ก. หนังสือการรับรองจากหัวหน้าหน่วยงานกรณีหัวหน้าโครงการเป็นอาจารย์อัตราจ้าง
ข. ใบรับรองการอนุมัติให้ดําเนินการเลี้ยงและใช้สัตว์สําหรับการวิจัยที่ใช้สัตว์ทดลอง
ค. ใบรับรองการอนุมัติให้ดําเนินการวิจัยหรือ Certificate of Approval การทําวิจัยในมนุษย์
ง. ใบรับรองการอนุมัติให้ดําเนินการวิจัยด้านความปลอดภัยทางชีวภาพสําหรับงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือพันธุวิศวกรรม
๔.๓ ข้อเสนอการวิจัยที่ผ่านการพิจารณา ให้ยืนยันการส่งข้อเสนอการวิจัยผ่านระบบบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ(NRMS) ตามข้อ ๔.๓ และส่งต้นฉบับถึงสถาบันวิจัยและพัฒนารายละเอียดตาม ข้อ ๔.๒ จำนวน ๓ ชุด ภายในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๘
๕. ขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัย
๕.๑ มหาวิทยาลัยฯ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอการวิจัย ตามลักษณะโครงการในประกาศนี้ พร้อมจัดลำดับความสำคัญข้อเสนอการวิจัย โดยมีแนวทางการประเมินดังนี้
(๑) คุณค่าทางปัญญาของโครงการวิจัย ๘๐ คะแนน
(๑.๑) ปัจจัยการวิจัย (Input) ๒๐ คะแนน
(๑.๑.๑) หัวเรื่องของการวิจัยน่าสนใจ เป็นประเด็นเร่งด่วน (hot issue) ที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องทำวิจัย
(๑.๑.๒) วัตถุประสงค์ของการวิจัยมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม
(๑.๑.๓) โครงสร้างคณะผู้บริหารโครงการวิจัย/ผู้ร่วมวิจัยมีความเหมาะสมและมีความพร้อม
(๑.๑.๔) สนับสนุนและเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำการวิจัย
(๑.๑.๕) มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการตรวจเอกสารอ้างอิงสมบูรณ์
(๑.๑.๖) จัดทำแผนการดำเนินงานตลอดโครงการวิจัยได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
(๑.๑.๗) มีความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์ในการทำการวิจัย
(๑.๑.๘) งบประมาณที่ใช้ทำการวิจัยมีความเหมาะสม และเป็นไปตามเกณฑ์การตั้งงบประมาณตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศไว้
(๑.๒) กระบวนการวิจัย (Process) ๓๐ คะแนน
(๑.๒.๑) ระบุกลยุทธ์การเชื่อมโยงขั้นตอนการวิจัยอย่างสมบูรณ์ ถูกต้อง ชัดเจน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
(๑.๒.๒) แสดงแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือผลการวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมาย ชัดเจน
(๑.๓) ผลผลิตการวิจัย (Output) ๓๐ คะแนน
(๑.๓.๑) งานวิจัยที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เช่น ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการพาณิชย์
(๑.๓.๒) แสดงผลสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับเมื่อสิ้นสุดการวิจัยได้ชัดเจน
(๑.๓.๓) ระบุกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์ และผลกระทบจากผลงานวิจัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
(๑.๓.๔) แสดงจำนวนนักวิจัยรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะเกิดจากการดำเนินงานวิจัย
(๒) ผลกระทบของโครงการวิจัย (impact) ๒๐ คะแนน
ผลลัพธ์ (outcome) ของงานวิจัยจะทำให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ ตามสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนด
๕.๒ มหาวิทยาลัยฯ จะส่งข้อเสนอการวิจัย ที่มีคะแนนการประเมิน ๕๐ คะแนนขึ้นไปให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุจา ทิพย์วารี)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
*ระบบ NRMS หมายถึง ระบบบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ (National Research Management System) เว็บไซต์ www.nrms.go.th