ทุนอุดหนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานรากประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓

 

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)

เรื่อง  ทุนอุดหนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานรากประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓

ตามที่เครือข่ายวิจัยอุดมศึกษาภาคใต้ตอนล่าง ได้ประสานการจัดสรรทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก แก่สถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษาภาคใต้ตอนล่าง จำนวน ๑๓ สถาบัน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในนามประธานเครือข่ายบริหารงานวิจัย (C) จึงเห็นสมควรออกประกาศ เรื่อง ทุนอุดหนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓ เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ตามข้อกำหนดโครงการ (TOR) ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ดังนี้

๑. วัตถุประสงค์ของโครงการ

          ๑.๑ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากผลงานวิจัยไปสู่ชุมชนเพื่อสร้างหรือเพิ่มความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

          ๑.๒ เพื่อสร้างความเข้มแข็งไห้คณาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา รวมถึงสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างผลงานวิจัยรับใช้สังคม ชุมชน และท้องถิ่น

          ๑.๓ เพื่อส่งเสริมกลไกความร่วมมือในระบบเครือข่ายการวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

๒. เงื่อนไขและขอบเขตการดำเนินงาน

          เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้างต้น จึงกำหนดเงื่อนไขและกรอบแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

          ๒.๑ กรอบงานวิจัย

          (๑) ด้านเกษตรกรรมและอาหาร

          (๒) ด้านสุขภาวะและผู้สูงอายุ

          (๓) ด้านวิสาหกิจชุมชน

          (๔) ด้านการท่องเที่ยวและบริการที่มีมูลค่าสูง

          (๕) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          (๖) ด้านการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างสรรค์การเรียนรู้

          ๒.๒ เป็นโครงการวิจัยเดี่ยว/ชุดโครงการ

          (๑) โครงการวิจัยเดี่ยว เป็นโครงการที่มาจากประเด็นความต้องการของชุมชนและตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากอย่างแท้จริง

          (๒) ชุดโครงการ ต้องแสดงให้เห็นการกำหนดเป้าหมายสุดท้ายที่ชัดเจนของโครงการว่าในระยะที่ ๓ เมื่อสิ้นสุดโครงการ โครงการจะนำความสำเร็จอะไรมาให้หรือโครงการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องใด หรือโครงการสร้างสิ่งใดให้เกิดในพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย โดยระยะที่ ๑ โครงการต้องระบุชัดเจนว่าจะส่งมอบงานอะไร ระยะที่ ๒ โครงการต้องแสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการอย่างไรที่ทำให้ขยับไปใกล้เป้าหมายมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการต้องระบุ KPI แต่ละระยะให้ชัดเจน

         (๓) แต่ละชุดโครงการวิจัยต้องมีนักวิจัยที่มาจากสถาบันอุดมศึกษาอย่างน้อย ๒ สถาบันหรือเป็นนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาร่วมกับผู้ร่วมวิจัยจากชุมชน/หน่วยงานท้องถิ่น เข้าร่วมโครงการทั้งนี้หัวหน้าโครงการวิจัยต้องมาจากสถาบันอุดมศึกษาและมีผู้จัดการโครงการ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการวิจัยในลักษณะ Program based และชุดโครงการต้องมีเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมหรือสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดโครงการ

          (๔) โครงการ/ชุดโครงการ ที่ได้รับงบประมาณสมทบจากแหล่งอื่นจะได้รับการพิจารณาในลำดับต้น

          (๕) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ ให้เป็นสิทธิร่วมกันของผู้ให้ทุนตามสัดส่วนของจำนวนเงินที่ผู้ให้ทุนแต่ละฝ่ายได้จ่ายเงินและ/หรือทรัพย์สินให้กับสถาบันอุดมศึกษาผู้รับทุนจริงตามสัญญาโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอมอบสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจาโครงการวิจัยให้กับสถาบันอุดมศึกษาผู้รับทุน

 

๓. เกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการ

           ๓.๑ เป็นโครงการที่สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐–๒๕๗๙) ตลอดจนนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และยุทธศาสตร์ของจังหวัด (ภายใต้กรอบการวิจัย ๖ ด้าน)

           ๓.๒ เป็นโครงการที่มีชุมชน/ท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น/หน่วยงานในระดับจังหวัดเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ชุดโครงการวิจัย และ/หรือโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม/สมทบจากแหล่งอื่น เช่น งบประมาณจากจังหวัดจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น

          ๓.๓ เป็นโครงการที่มีแผนการดำเนินงานและมีตัวชี้วัดชัดเจน และมีความสอดคล้องของกิจกรรมในโครงการ ระยะเวลา และงบประมาณในภาพรวม

         ๓.๔ เป็นโครงการที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน/ท้องถิ่น/หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ โดยผลผลิตการวิจัย (Output) สามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือทางสังคม และ/หรือสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนหรือผู้เข้าร่วมโครงการได้

 

๔. คุณสมบัติของหัวหน้าโครงการวิจัย

          ๔.๑ เป็นบุคลากรประจำของมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายการวิจัยภาคใต้ตอนล่าง       

          ๔.๒ ไม่เป็นผู้ติดค้างการส่งรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ของโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก         

ทั้งนี้คณะทำงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมในโครงการวิจัย ทั้งในฐานะที่ปรึกษาโครงการ หัวหน้าโครงการ หรือผู้ร่วมวิจัย

 

. ลักษณะของโครงการที่ให้ความสนับสนุน

          ๕.๑ มีลักษณะเป็นโครงการเดี่ยว (Research Program) โดยจะต้องมีสถาบันภายในเครือข่ายการวิจัยภาคใต้ตอนล่างร่วมตั้งแต่ ๒ สถาบันการศึกษาขึ้นไป หรือชุดโครงการวิจัย เป็นการศึกษาวิจัยแบบสายโซ่คุณค่า (Value chain) ที่แสดงผลการดำเนินงานงานตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

          ๕.๒ ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องมีหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการจากหน่วยงานในชุมชน/ท้องถิ่นที่ร่วมโครงการ ประกอบ

          ๕.๓ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙) ตลอดจนนโยบายประเทศ ๔.๐ และยุทธศาสตร์ของจังหวัด (ภายใต้กรอบวิจัย ๖ ด้าน)

          ๕.๔ ระยะเวลาดำเนินการ ผู้รับทุนต้องดำเนินการวิจัยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๔ เดือน นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญารับทุน และสามารถขอขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง ครั้งละ ๖ เดือน โดยต้องมีหนังสือขอขยายเวลาไปยังประธานเครือข่ายบริหารงานวิจัย (C) ล่วงหน้าอย่างน้อย ๔๕ วัน ก่อนครบกำหนดตามสัญญา

          ๕.๕ การนำเสนอชุดโครงการวิจัยมุ่งเน้นการดำเนินโครงการวิจัยที่เป็น Issue based หรือ Area based ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์จังหวัด และ/หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

 

. วิธีการเสนอโครงการวิจัยฯเพื่อขอรับทุน

          ๖.๑ หัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้เสนอโครงการโดยเสนอผ่านความเห็นชอบจากสถาบันวิจัย/หน่วยงาน
ที่รับผิดชอบด้านการวิจัยของสถาบันต้นสังกัดและผ่านการประเมินขั้นต้นจากหน่วยงานต้นสังกัด

          ๖.๒ โครงการวิจัยจะต้องลงลายมือชื่อจริงหัวหน้าโครงการวิจัย และผู้ร่วมวิจัยทุกคน

 

. การจัดทำรายละเอียดโครงการและกำหนดเวลาเสนอโครงการวิจัย

          จัดทำรายละเอียดโครงการวิจัยฯ ตามแบบฟอร์มเสนอโครงการวิจัยโดยสามารถ download ได้จาก คลิ๊ก download โดยผู้ที่สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการวิจัย (Full Proposal) ได้ทาง E-mail ruts.trang@gmail.com ในรูปแบบไฟล์ word และ PDF ภายในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ทั้งนี้โครงการที่ได้รับหลังกำหนดเวลาดังกล่าวจะไม่ได้รับการพิจารณา (ถือวันที่ปรากฏใน E-mail)

. งบประมาณโครงการ

          โครงการเดี่ยว : สนับสนุนโครงการละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐   บาท

          ชุดโครงการ   : สนับสนุนชุดโครงการละไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

. การจ่ายเงินอุดหนุนโครงการ

          การรายงานผลการดำเนินการ การประเมินผลการดำเนินการ และการเก็บหลักฐาน
การใช้จ่ายเงินโครงการ ให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานรากเครือข่ายการวิจัยภาคใต้ตอนล่าง

๑๐. การเผยแพร่ผลการวิจัย

          ทั้งในลักษณะเป็นรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์หรือเผยแพร่ในลักษณะอื่น ๆ ให้ระบุข้อความว่า “ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากเครือข่ายการวิจัยภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓” ในกิตติกรรมประกาศหรือที่อื่นใดตามความเหมาะสม


คลิ๊ก download แบบฟอร์มต่างๆ สำหรับยื่นข้อเสนอขอรับทุน

 

 

Like: