ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน(อพ.สธ.-มทร.ศรีวิชัย) จัดกิจกรรมฝึกอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ประจำปี 2565

ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์  ธัญรส อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประธานในพิธีเปิด “ฝึกอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน แนวทางสนับสนุนงาน อพ.สธ. หลักสูตร : บูรณาการ 5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนสู่การจัดการเรียนรู้” ในระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2565 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จึงได้จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แอปพลิเคชั่น ZOOM Cloud Meetings โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 ท่าน

          ดร.วิกิจ ผินรับ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในนามตัวแทนผู้จัดงาน กล่าวว่าการฝึกอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวการสนองพระราชดำริ การบริหารและการจัดการการดำเนินงาน หลักสูตร 5 องค์ประกอบ และผลการดำเนินงาน เพื่อนำความรู้สู่การสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ และการพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ในสถานศึกษาที่รับผิดชอบ ซึ่งกระบวนการที่ใช้ในการฝึกอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยายและการปฏิบัติการ ทำความเข้าใจในกระบวนการ รวมทั้งการสรุปผลและนำเสนอผลการปฏิบัติการ ตลอดจนการนำไปสู่การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด การฝึกอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณมรกต วัชรมุสิก เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 7 วิทยากรจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ(สำนักพระราชวัง) ที่ให้การสนับสนุนจัดฝึกอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หลักสูตรบูรณาการ 5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สู่การจัดการเรียนรู้ สำหรับสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ซึ่งมีทีมวิทยากรศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.- มทร.ศรีวิชัย ร่วมบรรยายองค์ประกอบที่ 1 การจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้ องค์ประกอบที่ 2 การรวบรวมพรรณไม้เข้าปลูกในโรงเรียน องค์ประกอบที่ 3 การศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ องค์ประกอบที่ 5 การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา และการสาธิตการทำพรรณไม้แห้ง และพรรณไม้ดอง ให้แก่บุคลากร เจ้าหน้าที่ สถานศึกษา ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจในวิธีการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนได้อย่างถูกต้อง ตรงตามแบบของ อพ.สธ. โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมอบรม ได้นำความรู้ที่ได้รับไปบูรณาการ กับงานที่ตนเองรับผิดชอบ ในสถานศึกษาของตน และช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ให้นักเรียนในโรงเรียน จนเกิดเครือข่ายการดำเนินการร่วมกันและขยายผลสู่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป

 

Like: