ยกทัพนักวิจัย สวพ. มทร.ศรีวิชัย ร่วมนำเสนอผลงานพิธีลงนาม MOU บริการทางวิชาการแก่ชุมชน

วันที่ 20 เมษายน 2565 ผศ.ประภาศรี ศรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วย รศ.ดร.ชุตินุช สุจริต รองผู้อำนวยการ และ ดร.พิมพิศา พรหมมา นักวิจัย มทร.ศรีวิชัย พื้นที่ขนอม นำเสนอผลงานภายใต้โครงการวิจัยการขับเคลื่อนและยกระดับพริกไทยปะเหลียนสู่ตลาดการแข่งขัน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของภาคใต้บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นสู่ตลาดการแข่งขัน ณ ห้องประชุมสมิหลา ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา

          บรรยากาศภายใต้พิธีลงนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย บันทึกข้อตกลงความเข้าใจ การบริการทางวิชาการแก่ชุมชน กับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ณ ห้องประชุมสมิหลา ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา

          สำหรับการลงนามในครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานได้เกิดความตระหนักในการรับผิดต่อสังคมและความสำคัญในการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ การพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการพัฒนาชุมชน การยกระดับเศรษฐกิจของชุมชน ส่งเสริมการบริการวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่นด้วยฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และทุนทางวัฒนธรรม รวมทั้งเพื่อให้เกิดการบูรณาการทรัพยากร การจัดการหน่วยงานเครือข่าย การบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่างๆ ให้เชี่ยวชาญทันเหตุการณ์สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดองค์ความรู้ใหม่ อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระดับชุมชนและระดับภูมิภาคด้วยหลักวิชาการ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นสมควรทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการบริการทางวิชาการแก่ชุมชนในพื้นที่ให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดกระบี่

          ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า การร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจากความรับผิดชอบต่อสังคมและความสำคัญในการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน การยกระดับเศรษฐกิจของชุมชน ส่งเสริมการบริการวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่น ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทุนทางวัฒนธรรม

.

ด้าน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับกรมการพัฒนาชุมชน เป็นองค์กรลำดับต้นๆ ของประเทศที่ให้ความสำคัญในการให้บริการประชาชน มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ สนับสนุนให้มีการจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน กรมการพัฒนาชุมชน ยังคงหาแนวทางและช่องทางในการให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในวันนี้ มีความโชคดีที่มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการที่ดี เป็นแหล่งบ่มเพาะกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น ในการร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นเพื่อประชาชนในท้องถิ่นอีก เพื่อให้เกิดการบูรณาการทรัพยากรการจัดการหน่วยงานเครือข่าย การบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่าง ๆ ให้เชี่ยวชาญ ทันเหตุการณ์สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันเกิดองค์ความรู้ใหม่ อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระดับชุมชนและระดับภูมิภาคด้วยหลักวิชาการต่อไป

          ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า โดยภาพรวมการดำเนินงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้กับการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชน สร้างความร่วมมือในการหนุนเสริม ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการแข่งขัน การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการชุมชน และการเพิ่มโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่น / OTOP สร้างความร่วมมือในการหนุนเสริมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ การจัดการผลผลิตจากโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้มีคุณภาพ การพัฒนาขีดความสามารถ   ให้ชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในพื้นที่ และการพัฒนาชุมชนสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานการเกษตรรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวแนวใหม่ ส่งเสริมและสนับสนุนร่วมมือในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การฝึกอบรม การประชุมและสัมมนาทางวิชาการ การจัดทำผลงานทางวิชาการ รวมทั้งความร่วมมือในการฝึกภาคปฏิบัติภาคสนามของนักศึกษา และส่งเสริมและสนับสนุน การพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาชุมชน การเทียบหลักสูตรการฝึกอบรมของกรมการพัฒนาชุมชน กับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สะสมในธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) เพื่อขอปริญญาต่อไป

Like: