มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันที่ 7-8 สค 2557 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น

การประชุมวิชาการระดับชาติด้านการบริหารกิจการสาธารณะ ครั้งที่ 2
(The Second National Conference on Public Affairs Management)

“ชุมชนท้องถิ่น: พลังแห่งการปฏิรูปประเทศไทย”
(Local Communities: Power of Thailand’s National Reform)


นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส François-Marie Arouet หรือที่ประชาคมโลกรู้จักกันในชื่อ Voltaire ได้ปรารภไว้ว่า “[We] live in curious times and amid astonishing contrasts; reasons on the one hand, and the most absurd fanaticism on the other….a civil war in every soul” (พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาที่อัศจรรย์และท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยขั้วหนึ่งของความแตกต่างทางความคิดคือเหตุและผล แต่อีกขั้วคือความบ้าคลั่ง พวกเราทุกคนกำลังเผชิญกับสงครามกลางเมืองในจิตใจ) ถ้อยคำดังกล่าวของ Voltaire สะท้อนสถานการณ์และพลวัติทางด้านการเมืองการปกครองของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในท่ามกลางความขัดแย้งทางด้านการเมืองระดับชาติในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับโจทย์สำคัญ คือ จะต้องดำเนินการ อย่างไรเพื่อให้ภาครัฐของไทยมีประสิทธิภาพและคุณภาพในการให้บริการสาธารณะมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามครรลองประชาธิปไตย

     ทั้งนี้ แกนหลักของกระบวนการปฏิรูปภาครัฐตามแนวทางการบริหารภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) คือ การกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนท้องถิ่น (Decentralization) (Kettl, 2005) เพื่อเป็นการลดขนาดของภาครัฐส่วนกลางให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพที่การกำหนดนโยบายในระดับมหภาค และเพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชนให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย (Nalbandian, 2002) และเนื่องจากหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยการปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยตอบโจทย์การปฏิรูปภาครัฐตามแนวทางการบริหารภาครัฐแนวใหม่ที่ดีที่สุด

     อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่การปกครองท้องถิ่นก็ไม่ใช่ “ยาครอบจักรวาล (Panacea)” ที่จะสามารถเยียวยารักษาภาวะขาดค่านิยมประชาธิปไตยของสังคมไทยได้โดยปราศจากเงื่อนไข การกระจายอำนาจจะเป็น “ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง (Change Catalyst)” ให้แก่สังคมไทยได้ก็ต่อ เมื่อเกิดกระบวนการปฏิรูปในทุกมิติของวิถีชีวิตของประชาชน อาทิเช่น มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านโครงสร้างสังคม มิติด้านการเมือง และมิติด้านการบริหารจัดการทรัพยากรภายในชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจาก กระบวนการกระจายอำนาจไม่ได้หมายถึงกระบวนการถ่ายโอนอำนาจในการบริหารกิจการสาธารณะจากหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางสู่หน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในทุกมิติ (Cheema and Rondinelli, 2007)

     ด้วยความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นต่อการปฏิรูปประเทศไทย วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงสนับสนุนให้มีการจัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านการบริหารกิจการสาธารณะ ครั้งที่ 2 (The Second National Conference on Public Affairs Management) ในประเด็น ““ชุมชนท้องถิ่นกับการปฏิรูปประเทศไทย (Local Communities and Thailand’s National Reform)” เพื่อเปิดพื้นที่ทางวิชาการให้แก่นักศึกษา นักวิชาการ คณาจารย์ และสาธารณชนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าและการวิจัยเกี่ยวกับสภาวการณ์ในมิติต่างๆของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ การประชุมวิชาดังกล่าวยังจะเป็นเวทีสำคัญให้แก่นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาได้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของวิทยานิพนธ์และการศึกษาอิสระให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2548 ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญ ในการพัฒนาและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีคุณภาพ

ดูข้อมูลเพิ่มเติ่มที่ http://conference.kku.ac.th/colapm/

 

Like: